Tuesday, June 10, 2008

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์องค์บิดาของทหารเรือไทยและหมอพรของปวงชนชาวไทย


ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ ๒๔ พ.ค.๕๑ คอลัมน์โลกเกษตร


นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ต้นราชสกุลอาภากร) ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นับลำดับราชสกุลวงศ์เป็นองค์ที่ ๒๘ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์” ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๓ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ องค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด
ในปี ๒๔๓๖ เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะศึกษาได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้ปรากฏหลายครั้ง อาทิ ทรงถือท้ายเรือพระที่นั่งมหาจักรีด้วยพระองค์เอง เมื่อครั้งร่วมกระบวนรับเสด็จพระบรมชนกนาถ ที่เกาะลังกา ทรงฝึกงานในกองทัพเรือภาคเมดิเตอร์เรเนียนในเรือประจัญบาน Revenge เรือใบฝึก H.M.S.Cruiser เรือลาดตระเวน Hawke และเรือประจัญบาน Ramilies ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่ยกพลขึ้นบกไปปราบการจลาจลบนเกาะครีต ซึ่งอยู่ในปกครองของตุรกี ทั้งๆ ที่พระองค์มีพระชนมายุเพียง ๑๘ พรรษา หลังทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทางด้านทหารเรือ จากประเทศอังกฤษ โดยได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการทหารเรืออย่างดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้น เสด็จกลับประเทศไทยโดยทางเรือเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ ๒๔๔๓ หลังรวมระยะเวลาศึกษาวิชาการด้านทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ ๖ ปีเศษ พระองค์ทรงรับราชการทหารเรือในปี ๒๔๔๓ โดยได้รับพระราชทานยศตามลำดับจาก นายเรือโทผู้บังคับการ (เทียบเท่านาวาตรี ในปัจจุบัน) เป็นนายเรือเอก (เทียบเท่านาวาเอกในปัจจุบัน) ในวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๔๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศจากนายนาวาเอก เป็น พลเรือตรี และวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาอิสริยยศ เป็น กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
ตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการทหารเรือ พระองค์ทรงวางรากฐานและพัฒนากิจการทหารเรือให้เจริญก้าวหน้า และมั่นคงมาตราบเท่าทุกวันนี้ มีกิจการที่ทรงวางรากฐานให้ กรมทหารเรือ ประกอบด้วย ทรงจัดระเบียบราชการกรมทหารเรือขึ้นใหม่ ทรงจัดทำโครงการสร้างกำลังทางเรือ ทรงปรับปรุงด้านการศึกษาของทหารเรือ ทรงเข้าควบคุมการศึกษา และทรงสั่งสอนนักเรียนนายเรือโดยใกล้ชิด ทำให้โรงเรียนนายเรือสามารถผลิตนายทหารหลักที่มีความรู้ ความสามารถเดินเรือในทะเลลึกได้ โดยไม่ต้องจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นผู้บังคับบัญชาอีกต่อไป โดยทรงนำนักเรียนนายเรือไปอวดธงในต่างประเทศเป็นครั้งแรก นับเป็นความก้าวหน้าและเป็นเกียรติแก่ทหารเรือไทยที่มีความสำคัญยิ่ง ทรงปลูกฝังความรักชาติให้นักเรียนนายเรือโดยคราวที่ไทยเสียดินแดนบางส่วนให้ฝรั่งเศส ทรงให้นักเรียนนายเรือ รวมทั้งพระองค์สักคำว่า ร.ศ.๑๑๒ ตราดไว้ที่หน้าอกเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ทรงคิดแบบตราสามสมอ ที่กองทัพเรือยังคงใช้อยู่จนทุกวันนี้ ทรงจัดตั้งกองดับเพลิง เพื่อฝึกให้นักเรียนนายเรือฝึกทำการช่วยเหลือราษฎร
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๕๔ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาตออกจากราชการเป็นทหารกองหนุนชั่วคราว พระองค์ทรงเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ เพื่อช่วยชีวิตคนยากจน จากจดหมายเหตุของ พลเรือตรีพระยาหาญกลางสมุทร ศิษย์เอกของเสด็จในกรมฯ ได้บันทึกความทรงจำไว้ว่า เสด็จในกรมฯ ทรงเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจากตำราไทยกับพระยาพิษณุปราสาทเวช (คง ถาวรเดช) หมอหลวงแห่งราชสำนักเป็นผู้พยายามถ่ายทอดความรู้ให้ถึงวิธีแยกธาตุและการผสมยาเลี้ยงเชื้อโรค ได้เอาสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่ยุงจนถึงนก เป็ด และไก่ที่ตายแล้วใส่ขวด ใส่ตู้กระจกดองไว้ ส่วนที่มีชีวิตอยู่ก็นำใส่กรงขังไว้เป็นแถว เมื่อทดลองแยกธาตุผสมยาเสร็จแล้วก็นำยานั้นทดลองให้สัตว์เล็กกินก่อน เมื่อได้ผลดีก็ให้สัตว์ใหญ่กินบ้าง เมื่อสัตว์ใหญ่กินได้ผลดีจึงผสมให้คนกิน ทรงทำการค้นคว้าปรับปรุงยาอยู่ตลอดทั้งวัน เมื่อคนกินได้ผลดีเป็นที่แน่พระทัยแล้วจึงทรงทำการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่คนทั่วไป โดยไม่เลือกชั้น ไม่ว่าจะเป็นคนจนคนรวย เสด็จในกรมฯ ไม่เคยถือพระองค์ ทรงมีพระทัยเมตตาอารีแก่คนทั่วไป ใครมาหาทรงต้อนรับด้วยไมตรีจิต ตรวจโรครักษาให้ทั้งนั้น เสด็จในกรมฯ ทรงตั้งชื่อของพระองค์ว่า “หมอพร” ใครป่วยมาหา หมอพรตรวจแล้วจ่ายยาให้ไปโดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างไร ทุกคนที่มีความเดือดร้อนมารับการรักษาโรคและจ่ายยาให้ไปโดยไม่ต้องเสียเงิน จนมีชื่อเสียงไปทั่วว่ามีหมออภินิหารรักษาคนป่วยได้หายเป็นปลิดทิ้ง
ในตอนนั้นสภาพวังกลายเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ต้อนรับคนไข้นานาชนิดแน่นขนัด คนไข้พากันกราบแทบพระบาทที่พระองค์ทรงรักษาให้หายเหมือนชุบชีวิตขึ้นมาใหม่
เสด็จในกรมฯ ทรงสนพระทัยตำราแพทย์แผนโบราณเป็นพิเศษ จึงทรงเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง ซึ่งสมุดข่อยตำรายานี้เคยเก็บรักษาอยู่ที่ศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่นางเลิ้ง เป็นสมุดข่อยปิดทองสวยงามมาก มีภาพพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ และมีฤาษีสองตนนั่งพนมมืออยู่ซ้ายขวา เขียนด้วยหมึกสี ถัดลงมาเป็นรูปพระอาทิตย์ทรงราชรถสีแดงอยู่ในวงกลมคล้ายดวงอาทิตย์ มีอักษรไทยเขียนเป็นภาษาบาลีว่า “กยิราเจ กยิราเถนัง” ตรงกลางสมุดเขียนเป็นอักษรไทยสีดำ ขอบสมุดเขียนเป็นลายไทยสวยงาม หน้าแรกของสมุดตำรายานี้มีข้อความว่า “พระคัมภีร์อติสาระวรรค โบราณกรรมและปัจจุบันกรรม จบบริบูรณ์ของกรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงค้นคว้าตรวจหาจากคัมภีร์เก่าเกือบจะสูญสิ้นอยู่แล้วจนสำเร็จในปี ๒๔๕๘” ตำรายา เสด็จในกรมฯ นั้น มี ๒ เล่มใหญ่ กล่าวถึงการผสมยาวิธีแยกธาตุ และยาแก้โรคต่างๆ ซึ่งในตำรากล่าวว่าเคยใช้ได้ผลมาแล้ว พระองค์จึงเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไปในนามของพระองค์ว่า “หมอพรผู้วิเศษ”
ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือในตำแหน่งเจ้ากรมจเรทหารเรือ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ และทหารเรือยังขาดผู้มีความสามารถจริงๆ ต่อมาในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานยศเป็น นายพลเรือโท และวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ พ้นจากตำแหน่งจเรทหารเรือ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ เมื่อกลับเข้ามารับราชการทหารเรืออีกครั้ง พระองค์ทำให้กิจการทหารเรือก้าวหน้าไปอีกหลายด้าน ประกอบด้วย การจัดตั้งกำลังอากาศนาวี โดยชาวบินนาวี ยึดถือพระองค์ท่านเป็น องค์บิดาของการบินนาวีด้วย พระองค์เป็นกำลังสำคัญในการหาทุนจัดซื้อเรือหลวงพระร่วง เรือหลวงลำแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ปวงชนชาวไทยร่วมกันออกทุนทรัพย์ร่วมกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นเรือรบป้องกันราชอาณาจักรทางทะเล และแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จในกรมฯ ทรงขอพระราชทานที่ดินที่สัตหีบเพื่อสร้างฐานทัพเรือ นับเป็นวิสัยทัศน์อันยาวไกลทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้กองทัพเรือมีฐานทัพที่มั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน ทรงริเริ่มก่อตั้งแผนกการกุศลฌาปนกิจขึ้น ให้ทหารเรือได้จัดพิธีศพได้อย่างสมเกียรติ
เสด็จในกรมฯ กราบบังคมลาราชการออกไปตากอากาศเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ เมื่อประทับอยู่ที่ตำบลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร ทรงประชวรเป็นพระโรคไข้หวัดใหญ่ และสิ้นพระชนม์ในวันเสาร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ สิริพระชนมายุได้ ๔๔ พรรษา
ถึงแม้พระองค์จะสิ้นพระชนม์เป็นเวลานานแล้ว แต่ด้วยพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อกองทัพเรือจนเป็นองค์บิดาของทหารเรือไทย ด้วยพระเมตตาต่อผู้เจ็บป่วยยากไร้ในฐานะหมอพร ทำให้ทุกวันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันอาภากร จะเป็นวันที่กองทัพเรือและปวงชนชาวไทยทุกคน ร่วมระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน โดยที่พระอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่าน ณ ฐานทัพเรือกรุงเทพ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ จะมีพิธีบวงสรวง และพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ โดยหน่วยของกองทัพเรือและหน่วยงานต่างๆ จำนวนมากมาร่วมพิธีถวายพระเกียรติและระลึกถึงพระองค์ท่าน และยังมีพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ณ วิหารน้อย วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามด้วย นอกจากนั้นพระอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านกว่า ๑๖๐ แห่ง ทั่วประเทศ ก็จะมีหน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไปมาร่วมถวายสักการะระลึกถึงพระองค์ท่านเป็นประจำทุกปี พระเกียรติคุณของพระองค์ท่านจึงสมกับเนื้อเพลงเดินหน้าที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “..ส่วนตัวเราตาย ไว้ยืน ไว้ยืนแต่ชื่อ ให้โลกทั้งหลายเขาลือ ว่าตัวเราคือทหารเรือไทย...”

Tuesday, June 3, 2008

เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี











ข้อมูลนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
รวบรวมพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง
วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน และบันทึกไว้
ให้เป็นที่จดจำแด่ประชาชนชาวไทยทั่วไป