Wednesday, March 12, 2008

พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช ผู้ทำคุณประโยชน์แก่กองทัพเรือและประเทศชาติ


“ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว..” ทุกท่านคงทราบว่า ข้อความข้างต้นเป็นเนื้อเพลงความฝันอันสูงสุด แต่คงจะมีไม่กี่คนที่ทราบว่า บทเพลง “พระราชนิพนธ์” อันไพเราะบทนี้ เรียบเรียงเสียงประสานโดย พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช

พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช องคมนตรี และผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิง อุศนา ปราโมช ณ อยุธยา สมรสกับท่านผู้หญิง วราพร ปราโมช ณ อยุธยา มีบุตรทั้งหมด ๕ คน วัยเด็ก ท่านรับการศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จปริญญาตรี จากนั้นได้เข้าศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิต ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายเกรส์ อินน์ จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ การทำงาน ท่านเข้ารับราชการทหารที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม จนได้รับยศเป็นเรือเอก จากนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อมให้เข้าทำงานที่สำนักจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ จนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวงอัศนีฯ ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ผลงานทางดนตรี หม่อมหลวงอัศนีฯ ได้รับอิทธิพลในด้านดนตรีและศิลปะมาจาก หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ท่านเริ่มเล่นไวโอลินตั้งแต่วัยเด็ก และได้รวมตัวกันเล่นวงดนตรีควอเตทภายในครอบครัว เมื่อเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ท่านได้ใช้เวลาว่างศึกษาเรียนรู้ดนตรีด้วยตนเอง ทั้งยังได้เข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรีกับทางมหาวิทยาลัยเป็นประจำ และเมื่อเดินทางกลับจากศึกษาต่อใน ปี พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านได้ร่วมกับอาจารย์กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และชาวต่างชาติอีก ๒ คน ตั้งวงสติงควอเตทขึ้น ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นวงโปรมิวสิค และได้รับความสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ (สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน) ให้ใช้สถานที่ฝึกซ้อม ทั้งยังได้ส่งนายฮันส์ กุนเธอร์ มอมเมอร์ มาช่วยควบคุมวง วงดนตรีโปรมิวสิค นับเป็นวงดนตรีที่บุกเบิกวงการดนตรีคลาสสิกของประเทศไทย ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มและรับหน้าที่เป็นทั้งหัวหน้าวง ผู้จัดการวง ผู้แสดงเดี่ยว และผู้อำนวยเพลง จนกระทั่งเกิดการวมตัวครั้งใหม่เป็นวงดนตรีที่ใหญ่ขึ้น ชื่อว่า “วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ หรือบางกอก ซิมโฟนี ออเคสตร้า” และท่านยังมีผลงานประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานอีกมากมาย อาทิ เรียบเรียงเสียงประสานเพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลง เช่น ความฝันอันสูงสุด เราสู้ แผ่นดินของเรา เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย ยามเย็น ยามหนาว อาทิตย์อับแสง ฯลฯ เรียบเรียงเสียงประสานเพลงปลุกใจและเพลงรักชาติ เช่น แด่ทหารหาญในสมรภูมิ จากยอดดอย วีรกรรมรำลึก ตื่นเถิดไทย อยุธยารำลึก ฯลฯ ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงทัศนะ ให้วงดุริยางค์เยาวชนอาเซียนนำไปแสดงที่สิงคโปร์ เพลงศรีปราชญ์ ให้วงดุริยางค์เยาวชนอาเซียนแสดงที่ กรุงเทพมหานคร ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในส่วนของกองทัพเรือ ท่านได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพเรือด้วยดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกิจกรรมของวงดุริยางค์ราชนาวี โดยได้กรุณาเข้าร่วมประพันธุ์เพลง อำนวยเพลง และร่วมบรรเลงกับวงในวาระโอกาสที่สำคัญๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗ จนถึงปัจจุบัน โดยได้ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลง อาทิ เพลงสำหรับฉัตรมงคล และเพลงพนาไพร เพื่อให้วงดุริยางค์ราชนาวี ใช้ในการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต จนมีผลทำให้การแสดงประสบผลสำเร็จสร้างชื่อเสียง และเกียรติคุณแก่กองทัพเรือเป็นอย่างมาก
ความสามารถทางด้านดนตรีที่ท่านทุ่มเทสร้างประโยชน์และชื่อเสียงให้แก่ กองทัพเรือและประเทศชาติเป็นอย่างมาก จนในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ท่านได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) และศิลปินอาเซียน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ในด้านการทหาร ท่านได้รับพระราชทานยศเป็น พลเรือตรี ในตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๕ และในปี พ.ศ.๒๕๕๐ กองทัพเรือ ได้เสนอขอพระราชทานยศ พลเรือเอกเป็นกรณีพิเศษ ในฐานะที่ท่านได้ทำคุณประโยชน์จนเกิดผลดีต่อกองทัพเรือและประเทศชาติ โดยท่านดำรงตำแหน่ง นายทหารกองบังคับการ กรมทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นับว่า พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช เป็นบุคคลที่สร้างคุณูปการแก่กองทัพเรือและประเทศชาติ เป็นอย่างยิ่ง

No comments: