Thursday, March 13, 2008

๑๑ ปี ของเรือหลวงจักรีนฤเบศร กับการช่วยเหลือประชาชน




“ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี” เป็นความหมายของ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือที่เป็นเขี้ยวเล็บสำคัญของกองทัพเรือ และเป็นเรือที่ได้รับมอบภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือประชาชน มาครบ ๑๑ ปี ของการเข้าประจำการ ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๑
ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เกิดพายุใต้ผุ่นเกย์ในอ่าวไทย บริเวณจังหวัดชุมพรนำความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน มาสู่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากแม้กองทัพเรือ จะระดมสรรพกำลังทั้งหมดเข้าให้ความช่วยเหลือย่างเร่งด่วนแต่ด้วยขีดจำกัดของเรือ ของกองทัพเรือในขณะนั้นไม่สามารถทนสภาพทะเลและความรุนแรง เมื่อครั้งพายุไต้ฝุ่นเกย์ครั้งนั้นได้ ส่งผลให้ผู้ประสบภัยต้องรอคอยความช่วยเหลือเป็นระยะเวลานาน กองทัพเรือจึงตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดให้มีเรือขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการค้นหา และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ รวมทั้งยังสามารถขยายพื้นที่ในการลาดตระเวน และระยะเวลาในการปฏิบัติการในทะเลได้เป็นเวลานาน ทำให้การปฏิบัติการในทะเลมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยกองทัพเรือได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาเรือ ตลอดจนศึกษาถึงการปฏิบัติภารกิจของเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติในปี ๒๕๓๕ อนุมัติให้กองทัพเรือว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ จำนวน ๑ ลำ จากบริษัทบาซาน ประเทศสเปน
เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กองทัพเรือ เป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ รวมทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ กองทัพเรือจึงได้ขอพระราชทานชื่อเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือลำนี้ว่า “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี” นอกจากนั้นในพิธีปล่อยเรือลงน้ำ กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งประเทศสเปน ทรงเสด็จร่วมในพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ณ อู่บาซาน เมืองเฟโรล ประเทศสเปน เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๙ และในพิธีเจิมเรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิมเรือหลวงจักรีนฤเบศร ณ ท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๐ นับเป็นสิริมงคลยิ่งแก่กองทัพเรือ นำความปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
๑๑ ปีของความภาคภูมิใจของเรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้มุ่งมั่นทำการฝึกเตรียมความพร้อมของเรือ ให้พร้อมปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหลังจากที่เรือหลวงจักรีนฤเบศร ขึ้นระวางประจำการได้มีการพัฒนารูปแบบการปฏิบัติการระหว่างเรือกับอากาศยานที่สมบูรณ์แบบ เป็นเรือรบที่มีระบบการสื่อสารที่สามารถตอบสนองในการเป็นเรือบัญชาการได้ เป็นเรือที่มีระบบอำนวยการรบที่ทันสมัย และที่สำคัญเป็นเรือที่มีเฮลิคอปเตอร์ในการช่วยค้นหาผู้ประสบภัย โรงพยาบาลขนาด ๑๕ เตียง และห้องพักของผู้ประสบภัย จึงทำให้ภารกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ มีความรวดเร็วสามารถลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา ประกอบด้วยในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนซีต้าร์ซึ่งทำให้เกิดอุทกภัยในภาคใต้ตอนบน และจากพายุใต้ฝุ่นลินดา ที่ทำให้เกิดความเสียหายบริเวณจังหวัดชุมพร ปี พ.ศ.๒๕๔๓ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การคมนาคมถูกตัดขาด เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ในการขนส่งสิ่งของอุปโภคบริโภคให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง และในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ฝันร้ายจากธรณีพิบัติภัยสึนามิ เรือหลวงจักรีนฤเบศรถูกส่งเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน เรือได้ปฏิบัติการโดยใช้อากาศยานในการลาดตระเวนค้นหาศพผู้เสียชีวิต ส่งกำลังพลในการค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและขนส่งเครื่องอุปโภค บริโภค ให้แก่ผู้รอดชีวิตได้อย่างรวดเร็วนอกจากนั้น เรือหลวงจักรีนฤเบศร ยังได้รับมอบหมายให้เป็นเรือรับรองของพระบรมวงศานุวงศ์ และรับรองบุคคลสำคัญ ตลอดจนได้ให้การต้อนรับประชาชนทั่วไป ที่สนใจเข้าเยี่ยมเป็นจำนวนมาก เรือหลวงจักรีนฤเบศร นับเป็นเขี้ยวเล็บที่สำคัญ มีอานุภาพสูง ตอบสนองภารกิจ
ในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพเรือ สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเมื่อเกิดสาธารณภัยต่าง ๆ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒ – ๔๗๕ – ๔๕๒๑

กองทัพเรือ ร่วมแก้ไขปัญหาภาคใต้ กับกิจกรรมเยาวชนไทยใจสมานฉันท์

“เราควรจะร่วมมือร่วมใจช่วยกันคุ้มครองประเทศไทย โดยไม่ต้องถืออาวุธเป็นพลังที่ถูกต้อง...สามัคคี ปรองดอง พร้อมใจกัน ตอบแทนบุณคุณแผ่นดิน เพื่อสร้างประเทศไทยที่น่าอยู่ไว้ให้ลูกหลานไทยสืบต่อไป” พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘
กองทัพเรือ ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว มาปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเพิ่มการปฏิบัติงานด้านกิจการพลเรือน เพื่อเสริมการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ชื่อโครงการ “รวมใจไทยเป็นหนึ่ง” ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นความสมานฉันท์ และก่อให้เกิดสันติสุขในภาคใต้ รวมทั้งมีการนำเยาวชนในพื้นที่ปฏิบัติงานของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ มาทัศนศึกษานอกพื้นที่



โดยช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ เยาวชนจะมาทัศนศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าพบและรับฟังโอวาทจาก พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ณ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ และในวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เวลา ๑๓๓๐ จะเข้าร่วม “กิจกรรมเยาวชนไทยใจสมานฉันท์” ณ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชั้น ๕ ซึ่งกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลูกฝังให้เยาวชนมีความรักชาติ ยึดมั่นในสถาบันชาติ และพระมหากษัตริย์ร่วมกันโดยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้เยาวชนที่ร่วมโครงการเหล่านี้มีทัศนคติที่ดี พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกองทัพเรือและทางราชการในการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีร่วมกันต่อไป ซึ่งเยาวชนรุ่นนี้มาจากอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส จำนวน ๓๕ คน จะร่วมกิจกรรมกับนักเรียนทหารสังกัดกองทัพเรือ มีกิจกรรมสันทนาการต่างๆ การพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน มีศิลปินดารามาร่วมให้ความบันเทิง รวมทั้งชมภาพยนตร์เรื่องสลัดตาเดียวกับเด็กสองร้อยตา
โดยกิจกรรมครั้งนี้ ดำเนินการไปได้ด้วยดีจากความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญของการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศ ประกอบด้วย บริษัท เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ บริษัทไดเรคโซลูชั่น จำกัด และบริษัทสหพัฒนาพิบูลย์

Wednesday, March 12, 2008

พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช ผู้ทำคุณประโยชน์แก่กองทัพเรือและประเทศชาติ


“ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว..” ทุกท่านคงทราบว่า ข้อความข้างต้นเป็นเนื้อเพลงความฝันอันสูงสุด แต่คงจะมีไม่กี่คนที่ทราบว่า บทเพลง “พระราชนิพนธ์” อันไพเราะบทนี้ เรียบเรียงเสียงประสานโดย พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช

พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช องคมนตรี และผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิง อุศนา ปราโมช ณ อยุธยา สมรสกับท่านผู้หญิง วราพร ปราโมช ณ อยุธยา มีบุตรทั้งหมด ๕ คน วัยเด็ก ท่านรับการศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จปริญญาตรี จากนั้นได้เข้าศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิต ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายเกรส์ อินน์ จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ การทำงาน ท่านเข้ารับราชการทหารที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม จนได้รับยศเป็นเรือเอก จากนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อมให้เข้าทำงานที่สำนักจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ จนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวงอัศนีฯ ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ผลงานทางดนตรี หม่อมหลวงอัศนีฯ ได้รับอิทธิพลในด้านดนตรีและศิลปะมาจาก หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ท่านเริ่มเล่นไวโอลินตั้งแต่วัยเด็ก และได้รวมตัวกันเล่นวงดนตรีควอเตทภายในครอบครัว เมื่อเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ท่านได้ใช้เวลาว่างศึกษาเรียนรู้ดนตรีด้วยตนเอง ทั้งยังได้เข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรีกับทางมหาวิทยาลัยเป็นประจำ และเมื่อเดินทางกลับจากศึกษาต่อใน ปี พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านได้ร่วมกับอาจารย์กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และชาวต่างชาติอีก ๒ คน ตั้งวงสติงควอเตทขึ้น ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นวงโปรมิวสิค และได้รับความสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ (สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน) ให้ใช้สถานที่ฝึกซ้อม ทั้งยังได้ส่งนายฮันส์ กุนเธอร์ มอมเมอร์ มาช่วยควบคุมวง วงดนตรีโปรมิวสิค นับเป็นวงดนตรีที่บุกเบิกวงการดนตรีคลาสสิกของประเทศไทย ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มและรับหน้าที่เป็นทั้งหัวหน้าวง ผู้จัดการวง ผู้แสดงเดี่ยว และผู้อำนวยเพลง จนกระทั่งเกิดการวมตัวครั้งใหม่เป็นวงดนตรีที่ใหญ่ขึ้น ชื่อว่า “วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ หรือบางกอก ซิมโฟนี ออเคสตร้า” และท่านยังมีผลงานประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานอีกมากมาย อาทิ เรียบเรียงเสียงประสานเพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลง เช่น ความฝันอันสูงสุด เราสู้ แผ่นดินของเรา เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย ยามเย็น ยามหนาว อาทิตย์อับแสง ฯลฯ เรียบเรียงเสียงประสานเพลงปลุกใจและเพลงรักชาติ เช่น แด่ทหารหาญในสมรภูมิ จากยอดดอย วีรกรรมรำลึก ตื่นเถิดไทย อยุธยารำลึก ฯลฯ ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงทัศนะ ให้วงดุริยางค์เยาวชนอาเซียนนำไปแสดงที่สิงคโปร์ เพลงศรีปราชญ์ ให้วงดุริยางค์เยาวชนอาเซียนแสดงที่ กรุงเทพมหานคร ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในส่วนของกองทัพเรือ ท่านได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพเรือด้วยดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกิจกรรมของวงดุริยางค์ราชนาวี โดยได้กรุณาเข้าร่วมประพันธุ์เพลง อำนวยเพลง และร่วมบรรเลงกับวงในวาระโอกาสที่สำคัญๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗ จนถึงปัจจุบัน โดยได้ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลง อาทิ เพลงสำหรับฉัตรมงคล และเพลงพนาไพร เพื่อให้วงดุริยางค์ราชนาวี ใช้ในการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต จนมีผลทำให้การแสดงประสบผลสำเร็จสร้างชื่อเสียง และเกียรติคุณแก่กองทัพเรือเป็นอย่างมาก
ความสามารถทางด้านดนตรีที่ท่านทุ่มเทสร้างประโยชน์และชื่อเสียงให้แก่ กองทัพเรือและประเทศชาติเป็นอย่างมาก จนในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ท่านได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) และศิลปินอาเซียน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ในด้านการทหาร ท่านได้รับพระราชทานยศเป็น พลเรือตรี ในตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๕ และในปี พ.ศ.๒๕๕๐ กองทัพเรือ ได้เสนอขอพระราชทานยศ พลเรือเอกเป็นกรณีพิเศษ ในฐานะที่ท่านได้ทำคุณประโยชน์จนเกิดผลดีต่อกองทัพเรือและประเทศชาติ โดยท่านดำรงตำแหน่ง นายทหารกองบังคับการ กรมทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นับว่า พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช เป็นบุคคลที่สร้างคุณูปการแก่กองทัพเรือและประเทศชาติ เป็นอย่างยิ่ง