Sunday, September 7, 2008

ประวัติและความจำเป็นของการมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือไทย


ประวัติและความจำเป็นของการมีเรือดำน้ำในกองทัพเรือไทย เนื่องจากกองทัพเรือเคยมีเรือดำน้ำเข้าประจำการมาก่อน แล้วปลดระวางไป ทั้งนี้ในสภาวะแวดล้อมด้านการทหารในปัจจุบัน กองทัพเรือมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการค้านอำนาจด้านการทหารและในเชิงยุทธศาสตร์การเปรียบเทียบกำลังรบระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้กองทัพเรือยังมีความจำเป็นที่ต้องการเรือดำน้ำเข้าประจำการ
-----------------
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า ประจำวันที่ ๑๓ ก.พ.๕๑

ความฝันที่เป็นจริงของนักเรียนจ่าทหารเรือ พิทยา มะอัมดง


ความฝันที่เป็นจริงของนักเรียนจ่าทหารเรือ พิทยา มะอัมดง ที่เป็นเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการร่วมใจไทยเป็นหนึ่งกองทัพเรือ แล้วสามารถสอบเข้ามาเป็นนักเรียนจ่าทหารเรือได้ ซึ่งนับว่าการดำเนินการโครงการฯดังกล่าวของกองทัพเรือประสบความสำเร็จที่สามารถชักนำให้เยาวชนเข้ามาร่วมกับกองทัพเรือได้
-------------------
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า ประจำวันที่ ๑๓ ก.พ.๕๑

เยาวชนไทยใจสมานฉันท์


เยาวชนไทยใจสมานฉันท์ เป็นโครงการที่ กพร.ทร. ร่วมกับ บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพลกซ์ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัยหาสามจังหสัดชายแดนภาคใต้ของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นกิจกรรมย่อยที่สนับสนุนกิจกรรมการนำเยาวชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาทัศนศึกษา เพื่อเปิดโลกทัศน์ของเยาวชนและเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตามโครงการรวมใจไทยเป็นหนึ่งกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๕๑
----------------------
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ประจำวันที่ ๒๙ เม.ย.๕๑ หน้า ๒๔

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย แสมสาร สัตหีบ ชลบุรี แหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืช


พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย แสมสาร สัตหีบ ชลบุรี แหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เป็นข้อมูลที่ได้ทำการประชาสัมพันธ์โครงการพระราชดำริของสมเด็นพระเทพฯ ของกองทัพเรือ
----------------------
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ ๗ มิ.ย.๕๑ คอลัมน์ท่องโลกเกษตร

ทัพเรือจับมือมหาลัยดัง ถกสภาวะโลกร้อน


กองทัพเรือจัดการประชุมทางวิชาการ ณ สรส. โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางหนังสือพิมพ์ โดย กปจ.ฯ รับผิดชอบผิดข้อความและประสานลงในหนังสือพิมพ์
_______________________
ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ ๑๒ มิ.ย.๕๑ หน้า ๑๙

Monday, September 1, 2008

ย้อนรำลึก ๔ เรือดำน้ำแห่งสยาม


สกู๊ปพิเศษ ย้อนรำลึก ๔ เรือดำน้ำแห่งสยาม ตำนานเขี้ยวเล็บใต้สมุทรราชนาวีไทย ลงในหนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ ๒๑ ส.ค.๕๑

Wednesday, July 30, 2008

นายกสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์


พล.ร.อ.กำธณ พุ่มหิรัญ ปษ.พิเศษ ทร. ในฐานะนายกสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ในหน้ากีฬา ว่าจะนำเรือพายไทยไปโอลิมปิค รายละเอียดสามารถเรียกดูได้ โดยการคลิกรูปภาพ

Tuesday, June 10, 2008

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์องค์บิดาของทหารเรือไทยและหมอพรของปวงชนชาวไทย


ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ ๒๔ พ.ค.๕๑ คอลัมน์โลกเกษตร


นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ต้นราชสกุลอาภากร) ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นับลำดับราชสกุลวงศ์เป็นองค์ที่ ๒๘ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์” ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๓ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ องค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด
ในปี ๒๔๓๖ เมื่อเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะศึกษาได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้ปรากฏหลายครั้ง อาทิ ทรงถือท้ายเรือพระที่นั่งมหาจักรีด้วยพระองค์เอง เมื่อครั้งร่วมกระบวนรับเสด็จพระบรมชนกนาถ ที่เกาะลังกา ทรงฝึกงานในกองทัพเรือภาคเมดิเตอร์เรเนียนในเรือประจัญบาน Revenge เรือใบฝึก H.M.S.Cruiser เรือลาดตระเวน Hawke และเรือประจัญบาน Ramilies ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่ยกพลขึ้นบกไปปราบการจลาจลบนเกาะครีต ซึ่งอยู่ในปกครองของตุรกี ทั้งๆ ที่พระองค์มีพระชนมายุเพียง ๑๘ พรรษา หลังทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทางด้านทหารเรือ จากประเทศอังกฤษ โดยได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการทหารเรืออย่างดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้น เสด็จกลับประเทศไทยโดยทางเรือเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ ๒๔๔๓ หลังรวมระยะเวลาศึกษาวิชาการด้านทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ ๖ ปีเศษ พระองค์ทรงรับราชการทหารเรือในปี ๒๔๔๓ โดยได้รับพระราชทานยศตามลำดับจาก นายเรือโทผู้บังคับการ (เทียบเท่านาวาตรี ในปัจจุบัน) เป็นนายเรือเอก (เทียบเท่านาวาเอกในปัจจุบัน) ในวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๔๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศจากนายนาวาเอก เป็น พลเรือตรี และวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาอิสริยยศ เป็น กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
ตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการทหารเรือ พระองค์ทรงวางรากฐานและพัฒนากิจการทหารเรือให้เจริญก้าวหน้า และมั่นคงมาตราบเท่าทุกวันนี้ มีกิจการที่ทรงวางรากฐานให้ กรมทหารเรือ ประกอบด้วย ทรงจัดระเบียบราชการกรมทหารเรือขึ้นใหม่ ทรงจัดทำโครงการสร้างกำลังทางเรือ ทรงปรับปรุงด้านการศึกษาของทหารเรือ ทรงเข้าควบคุมการศึกษา และทรงสั่งสอนนักเรียนนายเรือโดยใกล้ชิด ทำให้โรงเรียนนายเรือสามารถผลิตนายทหารหลักที่มีความรู้ ความสามารถเดินเรือในทะเลลึกได้ โดยไม่ต้องจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นผู้บังคับบัญชาอีกต่อไป โดยทรงนำนักเรียนนายเรือไปอวดธงในต่างประเทศเป็นครั้งแรก นับเป็นความก้าวหน้าและเป็นเกียรติแก่ทหารเรือไทยที่มีความสำคัญยิ่ง ทรงปลูกฝังความรักชาติให้นักเรียนนายเรือโดยคราวที่ไทยเสียดินแดนบางส่วนให้ฝรั่งเศส ทรงให้นักเรียนนายเรือ รวมทั้งพระองค์สักคำว่า ร.ศ.๑๑๒ ตราดไว้ที่หน้าอกเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ทรงคิดแบบตราสามสมอ ที่กองทัพเรือยังคงใช้อยู่จนทุกวันนี้ ทรงจัดตั้งกองดับเพลิง เพื่อฝึกให้นักเรียนนายเรือฝึกทำการช่วยเหลือราษฎร
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๕๔ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาตออกจากราชการเป็นทหารกองหนุนชั่วคราว พระองค์ทรงเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ เพื่อช่วยชีวิตคนยากจน จากจดหมายเหตุของ พลเรือตรีพระยาหาญกลางสมุทร ศิษย์เอกของเสด็จในกรมฯ ได้บันทึกความทรงจำไว้ว่า เสด็จในกรมฯ ทรงเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณจากตำราไทยกับพระยาพิษณุปราสาทเวช (คง ถาวรเดช) หมอหลวงแห่งราชสำนักเป็นผู้พยายามถ่ายทอดความรู้ให้ถึงวิธีแยกธาตุและการผสมยาเลี้ยงเชื้อโรค ได้เอาสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่ยุงจนถึงนก เป็ด และไก่ที่ตายแล้วใส่ขวด ใส่ตู้กระจกดองไว้ ส่วนที่มีชีวิตอยู่ก็นำใส่กรงขังไว้เป็นแถว เมื่อทดลองแยกธาตุผสมยาเสร็จแล้วก็นำยานั้นทดลองให้สัตว์เล็กกินก่อน เมื่อได้ผลดีก็ให้สัตว์ใหญ่กินบ้าง เมื่อสัตว์ใหญ่กินได้ผลดีจึงผสมให้คนกิน ทรงทำการค้นคว้าปรับปรุงยาอยู่ตลอดทั้งวัน เมื่อคนกินได้ผลดีเป็นที่แน่พระทัยแล้วจึงทรงทำการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่คนทั่วไป โดยไม่เลือกชั้น ไม่ว่าจะเป็นคนจนคนรวย เสด็จในกรมฯ ไม่เคยถือพระองค์ ทรงมีพระทัยเมตตาอารีแก่คนทั่วไป ใครมาหาทรงต้อนรับด้วยไมตรีจิต ตรวจโรครักษาให้ทั้งนั้น เสด็จในกรมฯ ทรงตั้งชื่อของพระองค์ว่า “หมอพร” ใครป่วยมาหา หมอพรตรวจแล้วจ่ายยาให้ไปโดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างไร ทุกคนที่มีความเดือดร้อนมารับการรักษาโรคและจ่ายยาให้ไปโดยไม่ต้องเสียเงิน จนมีชื่อเสียงไปทั่วว่ามีหมออภินิหารรักษาคนป่วยได้หายเป็นปลิดทิ้ง
ในตอนนั้นสภาพวังกลายเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ต้อนรับคนไข้นานาชนิดแน่นขนัด คนไข้พากันกราบแทบพระบาทที่พระองค์ทรงรักษาให้หายเหมือนชุบชีวิตขึ้นมาใหม่
เสด็จในกรมฯ ทรงสนพระทัยตำราแพทย์แผนโบราณเป็นพิเศษ จึงทรงเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง ซึ่งสมุดข่อยตำรายานี้เคยเก็บรักษาอยู่ที่ศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่นางเลิ้ง เป็นสมุดข่อยปิดทองสวยงามมาก มีภาพพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิ และมีฤาษีสองตนนั่งพนมมืออยู่ซ้ายขวา เขียนด้วยหมึกสี ถัดลงมาเป็นรูปพระอาทิตย์ทรงราชรถสีแดงอยู่ในวงกลมคล้ายดวงอาทิตย์ มีอักษรไทยเขียนเป็นภาษาบาลีว่า “กยิราเจ กยิราเถนัง” ตรงกลางสมุดเขียนเป็นอักษรไทยสีดำ ขอบสมุดเขียนเป็นลายไทยสวยงาม หน้าแรกของสมุดตำรายานี้มีข้อความว่า “พระคัมภีร์อติสาระวรรค โบราณกรรมและปัจจุบันกรรม จบบริบูรณ์ของกรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงค้นคว้าตรวจหาจากคัมภีร์เก่าเกือบจะสูญสิ้นอยู่แล้วจนสำเร็จในปี ๒๔๕๘” ตำรายา เสด็จในกรมฯ นั้น มี ๒ เล่มใหญ่ กล่าวถึงการผสมยาวิธีแยกธาตุ และยาแก้โรคต่างๆ ซึ่งในตำรากล่าวว่าเคยใช้ได้ผลมาแล้ว พระองค์จึงเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไปในนามของพระองค์ว่า “หมอพรผู้วิเศษ”
ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กลับเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือในตำแหน่งเจ้ากรมจเรทหารเรือ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ และทหารเรือยังขาดผู้มีความสามารถจริงๆ ต่อมาในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานยศเป็น นายพลเรือโท และวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ พ้นจากตำแหน่งจเรทหารเรือ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ เมื่อกลับเข้ามารับราชการทหารเรืออีกครั้ง พระองค์ทำให้กิจการทหารเรือก้าวหน้าไปอีกหลายด้าน ประกอบด้วย การจัดตั้งกำลังอากาศนาวี โดยชาวบินนาวี ยึดถือพระองค์ท่านเป็น องค์บิดาของการบินนาวีด้วย พระองค์เป็นกำลังสำคัญในการหาทุนจัดซื้อเรือหลวงพระร่วง เรือหลวงลำแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ปวงชนชาวไทยร่วมกันออกทุนทรัพย์ร่วมกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นเรือรบป้องกันราชอาณาจักรทางทะเล และแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จในกรมฯ ทรงขอพระราชทานที่ดินที่สัตหีบเพื่อสร้างฐานทัพเรือ นับเป็นวิสัยทัศน์อันยาวไกลทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้กองทัพเรือมีฐานทัพที่มั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน ทรงริเริ่มก่อตั้งแผนกการกุศลฌาปนกิจขึ้น ให้ทหารเรือได้จัดพิธีศพได้อย่างสมเกียรติ
เสด็จในกรมฯ กราบบังคมลาราชการออกไปตากอากาศเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ เมื่อประทับอยู่ที่ตำบลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร ทรงประชวรเป็นพระโรคไข้หวัดใหญ่ และสิ้นพระชนม์ในวันเสาร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ สิริพระชนมายุได้ ๔๔ พรรษา
ถึงแม้พระองค์จะสิ้นพระชนม์เป็นเวลานานแล้ว แต่ด้วยพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อกองทัพเรือจนเป็นองค์บิดาของทหารเรือไทย ด้วยพระเมตตาต่อผู้เจ็บป่วยยากไร้ในฐานะหมอพร ทำให้ทุกวันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันอาภากร จะเป็นวันที่กองทัพเรือและปวงชนชาวไทยทุกคน ร่วมระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน โดยที่พระอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่าน ณ ฐานทัพเรือกรุงเทพ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ จะมีพิธีบวงสรวง และพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ โดยหน่วยของกองทัพเรือและหน่วยงานต่างๆ จำนวนมากมาร่วมพิธีถวายพระเกียรติและระลึกถึงพระองค์ท่าน และยังมีพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ณ วิหารน้อย วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามด้วย นอกจากนั้นพระอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านกว่า ๑๖๐ แห่ง ทั่วประเทศ ก็จะมีหน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไปมาร่วมถวายสักการะระลึกถึงพระองค์ท่านเป็นประจำทุกปี พระเกียรติคุณของพระองค์ท่านจึงสมกับเนื้อเพลงเดินหน้าที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “..ส่วนตัวเราตาย ไว้ยืน ไว้ยืนแต่ชื่อ ให้โลกทั้งหลายเขาลือ ว่าตัวเราคือทหารเรือไทย...”

Tuesday, June 3, 2008

เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี











ข้อมูลนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
รวบรวมพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง
วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน และบันทึกไว้
ให้เป็นที่จดจำแด่ประชาชนชาวไทยทั่วไป

Thursday, March 13, 2008

๑๑ ปี ของเรือหลวงจักรีนฤเบศร กับการช่วยเหลือประชาชน




“ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี” เป็นความหมายของ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือที่เป็นเขี้ยวเล็บสำคัญของกองทัพเรือ และเป็นเรือที่ได้รับมอบภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือประชาชน มาครบ ๑๑ ปี ของการเข้าประจำการ ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๑
ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เกิดพายุใต้ผุ่นเกย์ในอ่าวไทย บริเวณจังหวัดชุมพรนำความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน มาสู่พี่น้องประชาชนเป็นอย่างมากแม้กองทัพเรือ จะระดมสรรพกำลังทั้งหมดเข้าให้ความช่วยเหลือย่างเร่งด่วนแต่ด้วยขีดจำกัดของเรือ ของกองทัพเรือในขณะนั้นไม่สามารถทนสภาพทะเลและความรุนแรง เมื่อครั้งพายุไต้ฝุ่นเกย์ครั้งนั้นได้ ส่งผลให้ผู้ประสบภัยต้องรอคอยความช่วยเหลือเป็นระยะเวลานาน กองทัพเรือจึงตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดให้มีเรือขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการค้นหา และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ รวมทั้งยังสามารถขยายพื้นที่ในการลาดตระเวน และระยะเวลาในการปฏิบัติการในทะเลได้เป็นเวลานาน ทำให้การปฏิบัติการในทะเลมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยกองทัพเรือได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาเรือ ตลอดจนศึกษาถึงการปฏิบัติภารกิจของเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติในปี ๒๕๓๕ อนุมัติให้กองทัพเรือว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ จำนวน ๑ ลำ จากบริษัทบาซาน ประเทศสเปน
เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กองทัพเรือ เป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ รวมทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ กองทัพเรือจึงได้ขอพระราชทานชื่อเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือลำนี้ว่า “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี” นอกจากนั้นในพิธีปล่อยเรือลงน้ำ กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งประเทศสเปน ทรงเสด็จร่วมในพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ณ อู่บาซาน เมืองเฟโรล ประเทศสเปน เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๙ และในพิธีเจิมเรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิมเรือหลวงจักรีนฤเบศร ณ ท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๐ นับเป็นสิริมงคลยิ่งแก่กองทัพเรือ นำความปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
๑๑ ปีของความภาคภูมิใจของเรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้มุ่งมั่นทำการฝึกเตรียมความพร้อมของเรือ ให้พร้อมปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหลังจากที่เรือหลวงจักรีนฤเบศร ขึ้นระวางประจำการได้มีการพัฒนารูปแบบการปฏิบัติการระหว่างเรือกับอากาศยานที่สมบูรณ์แบบ เป็นเรือรบที่มีระบบการสื่อสารที่สามารถตอบสนองในการเป็นเรือบัญชาการได้ เป็นเรือที่มีระบบอำนวยการรบที่ทันสมัย และที่สำคัญเป็นเรือที่มีเฮลิคอปเตอร์ในการช่วยค้นหาผู้ประสบภัย โรงพยาบาลขนาด ๑๕ เตียง และห้องพักของผู้ประสบภัย จึงทำให้ภารกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ มีความรวดเร็วสามารถลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา ประกอบด้วยในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนซีต้าร์ซึ่งทำให้เกิดอุทกภัยในภาคใต้ตอนบน และจากพายุใต้ฝุ่นลินดา ที่ทำให้เกิดความเสียหายบริเวณจังหวัดชุมพร ปี พ.ศ.๒๕๔๓ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การคมนาคมถูกตัดขาด เรือหลวงจักรีนฤเบศร ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ในการขนส่งสิ่งของอุปโภคบริโภคให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง และในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ฝันร้ายจากธรณีพิบัติภัยสึนามิ เรือหลวงจักรีนฤเบศรถูกส่งเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน เรือได้ปฏิบัติการโดยใช้อากาศยานในการลาดตระเวนค้นหาศพผู้เสียชีวิต ส่งกำลังพลในการค้นหาและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและขนส่งเครื่องอุปโภค บริโภค ให้แก่ผู้รอดชีวิตได้อย่างรวดเร็วนอกจากนั้น เรือหลวงจักรีนฤเบศร ยังได้รับมอบหมายให้เป็นเรือรับรองของพระบรมวงศานุวงศ์ และรับรองบุคคลสำคัญ ตลอดจนได้ให้การต้อนรับประชาชนทั่วไป ที่สนใจเข้าเยี่ยมเป็นจำนวนมาก เรือหลวงจักรีนฤเบศร นับเป็นเขี้ยวเล็บที่สำคัญ มีอานุภาพสูง ตอบสนองภารกิจ
ในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพเรือ สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเมื่อเกิดสาธารณภัยต่าง ๆ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒ – ๔๗๕ – ๔๕๒๑

กองทัพเรือ ร่วมแก้ไขปัญหาภาคใต้ กับกิจกรรมเยาวชนไทยใจสมานฉันท์

“เราควรจะร่วมมือร่วมใจช่วยกันคุ้มครองประเทศไทย โดยไม่ต้องถืออาวุธเป็นพลังที่ถูกต้อง...สามัคคี ปรองดอง พร้อมใจกัน ตอบแทนบุณคุณแผ่นดิน เพื่อสร้างประเทศไทยที่น่าอยู่ไว้ให้ลูกหลานไทยสืบต่อไป” พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘
กองทัพเรือ ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว มาปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเพิ่มการปฏิบัติงานด้านกิจการพลเรือน เพื่อเสริมการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ชื่อโครงการ “รวมใจไทยเป็นหนึ่ง” ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นความสมานฉันท์ และก่อให้เกิดสันติสุขในภาคใต้ รวมทั้งมีการนำเยาวชนในพื้นที่ปฏิบัติงานของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ มาทัศนศึกษานอกพื้นที่



โดยช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ เยาวชนจะมาทัศนศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าพบและรับฟังโอวาทจาก พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ณ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ และในวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เวลา ๑๓๓๐ จะเข้าร่วม “กิจกรรมเยาวชนไทยใจสมานฉันท์” ณ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชั้น ๕ ซึ่งกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปลูกฝังให้เยาวชนมีความรักชาติ ยึดมั่นในสถาบันชาติ และพระมหากษัตริย์ร่วมกันโดยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้เยาวชนที่ร่วมโครงการเหล่านี้มีทัศนคติที่ดี พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกองทัพเรือและทางราชการในการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีร่วมกันต่อไป ซึ่งเยาวชนรุ่นนี้มาจากอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส จำนวน ๓๕ คน จะร่วมกิจกรรมกับนักเรียนทหารสังกัดกองทัพเรือ มีกิจกรรมสันทนาการต่างๆ การพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน มีศิลปินดารามาร่วมให้ความบันเทิง รวมทั้งชมภาพยนตร์เรื่องสลัดตาเดียวกับเด็กสองร้อยตา
โดยกิจกรรมครั้งนี้ ดำเนินการไปได้ด้วยดีจากความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญของการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศ ประกอบด้วย บริษัท เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ บริษัทไดเรคโซลูชั่น จำกัด และบริษัทสหพัฒนาพิบูลย์

Wednesday, March 12, 2008

พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช ผู้ทำคุณประโยชน์แก่กองทัพเรือและประเทศชาติ


“ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว..” ทุกท่านคงทราบว่า ข้อความข้างต้นเป็นเนื้อเพลงความฝันอันสูงสุด แต่คงจะมีไม่กี่คนที่ทราบว่า บทเพลง “พระราชนิพนธ์” อันไพเราะบทนี้ เรียบเรียงเสียงประสานโดย พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช

พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช องคมนตรี และผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิง อุศนา ปราโมช ณ อยุธยา สมรสกับท่านผู้หญิง วราพร ปราโมช ณ อยุธยา มีบุตรทั้งหมด ๕ คน วัยเด็ก ท่านรับการศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จปริญญาตรี จากนั้นได้เข้าศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิต ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายเกรส์ อินน์ จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ การทำงาน ท่านเข้ารับราชการทหารที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม จนได้รับยศเป็นเรือเอก จากนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อมให้เข้าทำงานที่สำนักจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ จนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวงอัศนีฯ ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ผลงานทางดนตรี หม่อมหลวงอัศนีฯ ได้รับอิทธิพลในด้านดนตรีและศิลปะมาจาก หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ท่านเริ่มเล่นไวโอลินตั้งแต่วัยเด็ก และได้รวมตัวกันเล่นวงดนตรีควอเตทภายในครอบครัว เมื่อเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ท่านได้ใช้เวลาว่างศึกษาเรียนรู้ดนตรีด้วยตนเอง ทั้งยังได้เข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรีกับทางมหาวิทยาลัยเป็นประจำ และเมื่อเดินทางกลับจากศึกษาต่อใน ปี พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านได้ร่วมกับอาจารย์กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และชาวต่างชาติอีก ๒ คน ตั้งวงสติงควอเตทขึ้น ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นวงโปรมิวสิค และได้รับความสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ (สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน) ให้ใช้สถานที่ฝึกซ้อม ทั้งยังได้ส่งนายฮันส์ กุนเธอร์ มอมเมอร์ มาช่วยควบคุมวง วงดนตรีโปรมิวสิค นับเป็นวงดนตรีที่บุกเบิกวงการดนตรีคลาสสิกของประเทศไทย ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มและรับหน้าที่เป็นทั้งหัวหน้าวง ผู้จัดการวง ผู้แสดงเดี่ยว และผู้อำนวยเพลง จนกระทั่งเกิดการวมตัวครั้งใหม่เป็นวงดนตรีที่ใหญ่ขึ้น ชื่อว่า “วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ หรือบางกอก ซิมโฟนี ออเคสตร้า” และท่านยังมีผลงานประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานอีกมากมาย อาทิ เรียบเรียงเสียงประสานเพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลง เช่น ความฝันอันสูงสุด เราสู้ แผ่นดินของเรา เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย ยามเย็น ยามหนาว อาทิตย์อับแสง ฯลฯ เรียบเรียงเสียงประสานเพลงปลุกใจและเพลงรักชาติ เช่น แด่ทหารหาญในสมรภูมิ จากยอดดอย วีรกรรมรำลึก ตื่นเถิดไทย อยุธยารำลึก ฯลฯ ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงทัศนะ ให้วงดุริยางค์เยาวชนอาเซียนนำไปแสดงที่สิงคโปร์ เพลงศรีปราชญ์ ให้วงดุริยางค์เยาวชนอาเซียนแสดงที่ กรุงเทพมหานคร ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในส่วนของกองทัพเรือ ท่านได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพเรือด้วยดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกิจกรรมของวงดุริยางค์ราชนาวี โดยได้กรุณาเข้าร่วมประพันธุ์เพลง อำนวยเพลง และร่วมบรรเลงกับวงในวาระโอกาสที่สำคัญๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗ จนถึงปัจจุบัน โดยได้ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลง อาทิ เพลงสำหรับฉัตรมงคล และเพลงพนาไพร เพื่อให้วงดุริยางค์ราชนาวี ใช้ในการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต จนมีผลทำให้การแสดงประสบผลสำเร็จสร้างชื่อเสียง และเกียรติคุณแก่กองทัพเรือเป็นอย่างมาก
ความสามารถทางด้านดนตรีที่ท่านทุ่มเทสร้างประโยชน์และชื่อเสียงให้แก่ กองทัพเรือและประเทศชาติเป็นอย่างมาก จนในปี พ.ศ.๒๕๓๗ ท่านได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) และศิลปินอาเซียน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ในด้านการทหาร ท่านได้รับพระราชทานยศเป็น พลเรือตรี ในตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๕ และในปี พ.ศ.๒๕๕๐ กองทัพเรือ ได้เสนอขอพระราชทานยศ พลเรือเอกเป็นกรณีพิเศษ ในฐานะที่ท่านได้ทำคุณประโยชน์จนเกิดผลดีต่อกองทัพเรือและประเทศชาติ โดยท่านดำรงตำแหน่ง นายทหารกองบังคับการ กรมทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นับว่า พลเรือเอก หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช เป็นบุคคลที่สร้างคุณูปการแก่กองทัพเรือและประเทศชาติ เป็นอย่างยิ่ง

Thursday, January 10, 2008

ข้อมูลนิทรรศการสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯกับกองทัพเรือ


รายละเอียดภาพนิทรรศการสามารถดุได้ ที่นี่ครับ
------------------------------------
ผลิตโดย กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ
http://www.navy.mi.th

Wednesday, January 9, 2008

เหล่าราชนาวีร่วมถวายอาลัยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ

กัลยาณิวัฒนาลัย

ดาวหนึ่งดวงร่วงฟ้ามาสู่พิภพ แสงสว่างกระจ่างจบขจรสยาม
จรัสแสงเจริญศรีทวีงาม สมพระนาม “กัลยาณิวัฒนา”
ดาวประดับดวงใจไทยทุกหน ที่มืดมนก็สว่างกระจ่างหล้า
ที่แล้งร้อนผ่อนเข็ญเย็นอุรา ที่ทุกข์ร้อนโรคาพ้นลำเค็ญ
บัดนี้ดาวดวงชื่นคืนสู่ฟ้า จะหวนหาโหยไห้คงไม่เห็น
พระเมตตาเตือนย้ำยังฉ่ำเย็น คงอยู่เป็นมิ่งขวัญนิรันดร์กาล
จงเสวยสวรรยาศิวาโมกข์ สถิตโลกล้ำลิบในทิพย์สถาน
แม้นยังวนเวียนว่ายในจักรวาล ขอพบพานเป็นรองพระบาททุกชาติเอย
ประพันธ์โดย
น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๖
ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในสูติบัตรเมื่อแรกประสูติ คือ เมย์ ตามเดือนที่ประสูติ ทรงมีพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา” และต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาเป็น “พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา” และในปี พ.ศ.๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัลกาลที่ ๘ ทรงเฉลิม
พระเกียรติเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา” และพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็น พระโสทรเชษฐภคินีเธอพระองค์เดียวของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์ ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์มาโดยลำดับ ทรงเป็นที่รักเทิดทูนของปวงประชาชนชาวไทยทั่วไป จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ เป็นการเฉลิมพระเกียรติอย่างสูง
พระกรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นที่ประจักษ์จากพระกรณียกิจต่างๆ มากมายทั้งการปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การปฏิบัติพระราชกิจแทนและสืบสานงานในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี การปฏิบัติพระราชกิจด้านการศึกษาโดยเฉพาะในการสร้างโรงเรียนและการให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน อาทิ โรงเรียนกัลยาณิวัฒนา ๑ จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนวราวัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากนั้นยังทรงให้ความสำคัญกับสื่อการเรียนการสอน การเสริมทักษะภาษาไทย ทรงพระอุตสาหะรับเป็นอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทรงก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ความรอบรู้ด้านวิชาการและการอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษาเป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาวิชาต่างๆ และเหรียญสดุดีพระกิตติคุณ
ทรงสนพระทัยและส่งเสริมการกีฬาหลายประเภท สำหรับการเผยแพร่ความรู้วิทยาการ ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ นับเป็นสิ่งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จะเห็นได้จากการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ การเสด็จทอดพระเนตร โบราณสถานและมรดก ของโลกทั้งในประเทศและต่างประเทศ และทรงรวบรวมจัดพิมพ์เผยแพร่ความรู้ ดังใน พระอัจฉริยภาพด้านพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชวงศ์ สารคดีเชิงท่องเที่ยวและบทความทางวิชาการ พระกรณียกิจด้านการแพทย์ สาธารณสุขและอนามัย ได้แสดงถึงพระเมตตาต่อทุกชนชั้นให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ทรงสนับสนุนและบริหารมูลนิธิต่างๆ ให้ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เช่น มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิช่วยการสาธารณสุขชุมชน มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช เป็นต้น ในด้านการสงเคราะห์ ราษฎรผู้ยากไร้ในท้องถิ่นทุรกันดาร เด็กด้อยโอกาสในชุมชนแออัด ก็ได้ทรง
พระเมตตาให้ความช่วยเหลือทั้งด้านปัจจัยสี่ และการสาธารณสุขเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ยากไร้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระบารมีเต็มเปี่ยมสมกับที่ทรงอุบัติขึ้นมาในราชสกุล เป็นพระเจ้าหลานเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิชาการพระองค์หนึ่งตามรอย
พระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชชนก พระบรมราชชนนี ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติในพระองค์ที่ถึงพร้อมทั้งพระชาติวุฒิ พระวัยวุฒิ พระคุณวุฒิทางพระสติปัญญาทางวิชาการ และที่สำคัญยิ่งคือ พระจริยวัตรที่วางพระองค์ได้เหมาะสมกับพระฐานะ มีพระเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระยศทหาร ตั้งแต่พันโทหญิงจนเป็น
พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง เป็นราชองครักษ์ เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และประจำกองพันทหารอากาศโยธินรักษาพระองค์ เป็นกรณีพิเศษ ส่วนเครื่องราชอิสริยภรณ์ เครื่องอิสริยาภรณ์ และเหรียญเกียรติยศ ก็ทรงรับพระราชทานในระดับสูงสุด การเฉลิมพระเกียรติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็นกรมหลวงนราธิวาส
ราชนครินทร์ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ
สำหรับพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ต่อกองทัพเรือนั้น ในวโรกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งวันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมราชชนกในปี พ.ศ.๒๕๓๕ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่กองทัพเรือ ด้วยการทรงสละเวลา และทุ่มเทพระสติปัญญาค้นคว้าพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชชนก ในช่วงที่ทรงรับราชการในกองทัพเรือ แม้จะเป็นระยะเวลาไม่นานนักแต่นับเป็นประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของกองทัพเรือ โดย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเรียบเรียงเป็นหนังสือเล่มใหญ่ชื่อ “เจ้าฟ้าทหารเรือ” ตามหลักวิธีค้นคว้าและนำเสนองานทางประวัติศาสตร์ นับเป็นการพระราชทานเอกสารที่ทรงคุณค่ายิ่งในทางประวัติศาสตร์ให้แก่ชาวทหารเรือได้ภาคภูมิใจในอดีตของตน
และพระกรุณาธิคุณต่อกองทัพเรือยังได้รับสม่ำเสมอ ไม่ว่ากองทัพเรือจะกราบทูลเชิญเสด็จพระองค์ท่านไปทรงเป็นประธานในงานต่างๆ ที่กองทัพเรือจัดขึ้นครั้งใด ก็ทรงยินดีรับเชิญเสด็จทุกครั้งมิได้ขาด อาทิ
- เสด็จทรงประกอบพิธีปล่อยเรือ ต.๙๘ ลงน้ำ ณ กรมอู่ทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๖

- เสด็จเปิดนิทรรศการนาวิกศาสสตร์ปีที่ ๗๒ ณ อาคารราชนาวิกสภา เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๒

- เสด็จทอดพระเนตรละครการกุศล เรื่อง ทหารเสือกรมหลวงชุมพร รอบปฐมทัศน์ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๒

- เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ ซึ่งกองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ ได้จัดขึ้นในวโรกาส ๑๐๐ ปี วันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมราชชนก (ปี พ.ศ.๒๕๓๕) ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อพระราชทานพระราชดำริให้นิทรรศการมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทอดพระเนตรการแสดงกาชาดคอนเสิร์ตที่กองทัพเรือจัดถวาย ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๘ บรรเลงโดยวงดุริยางค์ทหารเรือ และในวโรกาสสำคัญนี้กองทัพเรือ ได้ประพันธ์บทเพลง “สมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา” ขึ้นถวายพระพร โดยบทเพลงนี้มีคีตลักษณ์แบบ ๒ ท่อนเพลง เป็นบทเพลงที่อยู่ในจังหวะวอลทซ์มีลีลาสง่าผ่าเผย เนื้อร้องกล่าวถึงพระอัจฉริยภาพ พระเมตตาอาทรต่อพสกนิกรชาวไทย
- กองทัพเรือได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานสัมภาษณ์เรื่อง “สมเด็จพระบรมราชชนกกับกองทัพเรือ” พระราชทานยืมฉลองพระองค์และของใช้ประจำพระองค์จอมพลเรือ สมเด็จ
พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ไปจัดแสดงในพิธีเปิดอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช ทรงไว้วางพระทัยให้กองทัพเรือซ่อมทำฉลองพระองค์ และของใช้ประจำพระองค์ สมเด็จ
พระบรมราชชนก ตลอดจนทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสิ่งที่กองทัพเรือได้ดำเนินการ ที่ท้องพระโรง พระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ และ
ในโอกาสเดียวกันนี้ ได้พระราชทานฉลองพระองค์ และของใช้ประจำพระองค์ของสมเด็จ
พระบรมราชชนก เพื่อให้กองทัพเรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติไทยสืบไป กองทัพเรือได้ขอพระราชทานอนุญาตสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดทำหนังสือ “มรดกไทยในฉลองพระองค์เจ้าฟ้าทหารเรือ” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนก ที่เคยทรงรับราชการทหารเรือ และทรงวางรากฐานสำคัญให้แก่กองทัพเรือ จนทำให้กิจการราชนาวีไทยเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งในมงคลวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญ
พระชันษา ๘๔ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยรายได้จากการจำหน่ายหนังสือนำทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเสด็จ
พระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ยิ่งกว่านั้นพระองค์ท่านทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะกรรมการจัดทำหนังสือฯ เข้าเฝ้าถึง ๒ ครั้ง อีกทั้งยังได้พระราชทานคำแนะนำในเรื่องต่างๆ ตลอดมา เช่น แหล่งข้อมูลค้นคว้าเพิ่มเติม พระราชทานอนุญาตให้ช่างภาพของห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์เข้าไปถ่ายภาพของใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนกเพิ่มเติม จนกระทั่งการพิมพ์หนังสือเสร็จสมบูรณ์ และได้พระราชทานคำนิยมหนังสือมรดกไทยในฉลองพระองค์เจ้าฟ้าทหารเรือ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “...หนังสือมรดกไทยในฉลองพระองค์เจ้าฟ้าทหารเรือ ที่กองทัพเรือจัดทำนี้ เป็นงานที่น่าชมเชยยิ่ง คณะผู้จัดทำสามารถเรียบเรียงพระประวัติทูลหม่อมได้อย่างครบถ้วน ด้วยข้อความที่กระชับโดยให้รายละเอียดที่เหมาะสมทุกบททุกตอน ข้าพเจ้าได้เขียนพระประวัติหลายเล่ม แต่เป็นตอนๆ ที่ไม่ต่อเนื่อง หนังสือของกองทัพเรือเล่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลไว้ถูกต้องสมบูรณ์..” รวมทั้งกองทัพเรือได้รับพระกรุณาธิคุณในการเสด็จเป็นองค์ประธานในงานแนะนำหนังสือเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๘ ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ
- ระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายน – ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ กองทัพเรือได้จัดให้ข้าราชการกองทัพเรือบวชถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในวโรกาสทรงเจริญพระชันษา ๘๔ ปี จำนวน ๘๕ รูป
ณ วัดปทุมวนาราม
ในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ เวลา ๐๒๕๔ เป็นวันที่ปวงชนชาวไทยทุกคนต้องสูญเสียขัตติยนารีผู้ทรงคุณูประการอันประเสริฐ แต่ด้วยพระกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ น้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จะทำให้พระองค์ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า รวมทั้งเหล่าพวกเราชาวราชนาวีทุกคนตราบนิรันดร์
-----------------------------
โดย กองปฏิบัติการจิตวิทยา
กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ

กองทัพเรือมอบรางวัลให้กับนักกีฬาของกองทัพเรือที่คว้าเหรียญในกซีเกมส์ ครั้งที่ ๒๔




หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ ๔ ม.ค.๕๑ หน้า ๒๓

หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ ๔ ม.ค.๕๑ หน้า ๒๙

หนังสือพิมพ์เดลินิส์ วันที่ ๔ ม.ค.๕๑ หน้า ๑๙